HOME          
 
  ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูร้อยเอ็ด จำกัด    
 

หมวด 7  คณะกรรมการดำเนินการ

       
 

    ข้อ 62. การเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่ง   ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการไม่เกินสิบห้าคน  ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก  การเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ  ให้เลือกโดย  วิธีเลือกประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน  ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งระหว่างกันเอง เป็นรองประธานกรรมการหนึ่งคน หรือหลายคน เลขานุการหนึ่งคน  และอาจ  ให้มีเหรัญญิกหนึ่งคน  และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการ  หรือผู้ช่วยเหรัญญิกด้วยก็ได้ นอกนั้นเป็นกรรมการ

     ข้อ 63. ลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นกรรมการดำเนินการ
ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
(2) เคยถูกไล่ออก  ปลดออก  หรือให้ออกจากราชการ  องค์การ  หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนฐานทุจริตฐต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือมีคำวินิจฉัย เป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ตามมาตรา 22(4) แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการ เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
   สมาชิกซึ่งเคยผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้  ไม่ว่าต้นเงิน  หรือดอกเบี้ย ในระยะเวลาสองปีทางบัญชี  ถึงวันเลือกตั้งเว้นแต่การผิดนัดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง  และหรือผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้ ไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการของสหกรณ์
   คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่ง  เป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก  และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
    กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน หากมีการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระก็ให้นับเป็นครบวาระ
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่ว่าง  ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน

    ข้อ 65. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ  ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ  และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมาย ให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้                                                                                   
   ในการดำเนินกิจการวรรคหนึ่ง  คณะกรรมการดำเนินการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของสมาชิก และความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้

(1)ดำเนินการในเรื่องการรับสมาชิก หรือสมาชิกสมทบ และออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้ปฏิบัติการต่าง  ๆ   ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสหกรณ์                       
(2)  พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับฝาก การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝาก หรือการลงทุนของสหกรณ์

(3)  ดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ เสนองบดุล และรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ต่อที่ประชุมใหญ่ (4) เสนอการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(5) จัดทำและเสนอแผนงานในการดำเนินงานรวมทั้งงบประมาณประจำปีเพื่อที่ประชุมใหญ่สามัญอนุมัติ
(6) พิจารณากำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง  ค่าพาหนะ  ค่าเช่าที่พัก  และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการอื่น  คณะทำงาน  ที่ปรึกษา ผู้ตรวจสอบกิจการ และบุคคลอื่นที่ทำประโยชน์ให้แก่สหกรณ์
(7) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง หรือจ้าง  หรือเลิกจ้าง  และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้จัดการ  เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างของสหกรณ์  ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้จัดการให้เป็นการถูกต้อง
(8) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนผู้ตรวจสอบภายใน
(9) กำหนดระเบียบต่างๆ ของสหกรณ์
(10) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุดบัญชี เอกสารหลักฐาน ทรัพย์สิน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงานของสหกรณ์
(11) พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ และองค์การอื่น
(12) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ  หรือคณะอนุกรรมการ   หรือคณะทำงาน  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(13) พิเคราะห์ และปฏิบัติตามหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(14) พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก  หรือสมาชิกสมทบ  เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
(15) พิจารณารายงานของคณะกรรมการอื่น ผู้ตรวจสอบกิจการ  ความเห็นของผู้จัดการ หรือสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(16) เชิญสมาชิก หรือบุคคลภายนอกที่เห็นสมควร เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
(17) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ  หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด
(18) กระทำการอื่น เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(19) พิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนของสหกรณ์ เพื่อเข้าประชุมใหญ่ และออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์หรือองค์การอื่น ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก หรือผู้ถือหุ้น  ทั้งนี้ ตามที่ข้อบังคับ หรือระเบียบของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์หรือองค์การนั้นกำหนดไว้
(20) พิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานให้แก่ประธานกรรมการ  รองประธาน กรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม

     ข้อ 66.  อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการเฉพาะตำแหน่ง

(1)  ประธานกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและควบคุมการประชุม ดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
  2. ควบคุม กำกับ ดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
  3. ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  4. ดำเนินการอื่น ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย

                (2)  รองประธานกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(ก) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการแทนประธานกรรมการ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่หรืออยู่แต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง
(ข) ปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการ
(ค) ดำเนินการอื่น ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย

(3)  เลขานุการ  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. แจ้งนัดประชุมใหญ่ หรือนัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการหรือการประชุมอื่น ๆ แล้วแต่กรณี
  2. จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ
  3. ดูแลรักษาเอกสาร และรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อย
  4. ดำเนินการอื่น ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย

                (4)  เหรัญญิก  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบการรับ จ่าย การเก็บรักษาเงิน และทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
  2. ดำเนินการอื่น ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย

     ข้อ 67.  การประชุมและองค์ประชุม  ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย นัดเรียกประชุมคณะกรรมการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ และเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
   ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

     ข้อ 68.  ความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการ  ถ้ากรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงินตามรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์

     ข้อ 69.  การพ้นจากตำแหน่ง  กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ลาออก โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือ
(2) ออกตามวาระ
(3) ขาดจากสมาชิกภาพ
(4) เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้
(5) จงใจเป็นผู้ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย
(6) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะ หรือบางคน
(7) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะ หรือบางคน

   ข้อ 70.  ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ  ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ  เว้นแต่การว่างลงเพราะเหตุที่ถูกนายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออก ให้กรรมการดำเนินการที่เหลือ  อยู่ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมใหญ่คราวถัดไป แต่ถ้าจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม ให้กรรมการที่เหลือจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
   ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการดำเนินการที่เหลือจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ  เพื่อเลือกตั้งประธานกรรมการโดยเร็ว เว้นแต่ในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการเหลืออยู่ นับถึงวันสิ้นปีทางบัญชีไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และมีรองประธานกรรมการ กับกรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ อาจให้มีการเลือกตั้งประธาน กรรมการดำเนินการในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีคราวถัดไปก็ได้
   กรรมการดำเนินการ ซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง  ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากำหนดเวลาตามวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน