HOME          
 
  ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูร้อยเอ็ด จำกัด    
 

หมวด 6  การประชุมใหญ่

       
 

     ข้อ 52. การประชุมใหญ่สามัญ   ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้ง  ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

     ข้อ 53. การประชุมใหญ่วิสามัญ  เมื่อมีเหตุอันสมควร  คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้  แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ  หรือในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว คณะกรรมการดำเนินการต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ
   สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า หนึ่งร้อย คน หรือผู้แทนสมาชิก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  หรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอเพื่อการใดการหนึ่งต่อคณะกรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อใดก็ได้  และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องขอ
   ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ  ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

     ข้อ 54. การประชุมใหญ่สามัญโดยผู้แทนสมาชิก  กรณีที่สหกรณ์มีสมาชิกเกินกว่าห้าพันคน ให้การประชุมใหญ่สามัญประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกเท่านั้น

     ข้อ 55. วิธีการเลือกตั้ง จำนวน และการดำรงตำแหน่งผู้แทนสมาชิก  ให้กำหนดดังนี้
(1) สมาชิกเท่านั้นมีสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสมาชิก
(2) ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกก่อนการประชุมใหญ่สามัญไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตาม ระเบียบของสหกรณ์
(3)จำนวนผู้แทนสมาชิก ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์
(4) การดำรงตำแหน่งผู้แทนสมาชิก  ผู้แทนสมาชิกมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละหนึ่งปี นับแต่วันเลือกตั้งถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่ ก็ให้ผู้แทนสมาชิกคนเดิมอยู่ในตำแหน่งไปพลางก่อน

     ข้อ 56. การพ้นจากตำแหน่ง   ผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก

(3) ออกตามวาระ
(4) ขาดจากสมาชิกภาพ

     ข้อ 57. ตำแหน่งผู้แทนสมาชิกว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ  ถ้าผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยประการใด ๆ  จนทำให้จำนวนผู้แทนสมาชิกเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยคน หรือไม่ถึงสามในสี่ของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  ให้สหกรณ์ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกให้ครบตามจำนวนที่ว่าง  และให้ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน

     ข้อ 58. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่   เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้ง วัน เวลา สถานที่  และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิก ผู้แทนสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วน  อาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร  ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการเป็นผู้ลงชื่อในหนังสือนั้น   และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้า ในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกทราบด้วย

     ข้อ 59. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่  การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ในกรณีเป็นการประชุมใหญ่ โดยผู้แทนสมาชิก ต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก สมาชิกทั่วไปสามารถเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้  แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงและแสดงความคิดเห็นหรือได้รับเลือกตั้งใด ๆ ทั้งสิ้น
ในการประชุมใหญ่  สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้

                     ข้อ 60. การนัดประชุมใหญ่ครั้งที่สอง ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์  ถ้าสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณี  มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม  ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก  ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้วเมื่อมีสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณี มาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคนก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม  แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม  เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวก็ให้งดประชุม                 

     ข้อ 61.อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยกิจการทั้งปวงของสหกรณ์  ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) รับทราบเรื่องรับสมาชิกหรือสมาชิกสมทบเข้าใหม่และออกจากสหกรณ์ และการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก
(2) วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์
(3) พิจารณาเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการดำเนินการทั้งคณะหรือบางคน และผู้ตรวจสอบกิจการ
(4) รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์  ของคณะกรรมการดำเนินการ  และรายงานของผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(5) พิจารณาอนุมัติงบดุลของสหกรณ์
(6) พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์
(7) พิจารณากำหนดบำเหน็จและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบกิจการ
(8) พิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี เพื่อเสนอให้นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง
(9) พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน
(10) พิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณประจำปีของสหกรณ์
(11) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสหกรณ์
(12) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  และชุมนุมสหกรณ์
หรือองค์การอื่นที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิก และหรือถือหุ้นอยู่
(13) พิเคราะห์และปฏิบัติตามหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์   หรือผู้ตรวจการสหกรณ์  หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(14) พิจารณากำหนดกรอบนโยบาย  ข้อเสนอแนะ หรือคำแนะนำให้คณะกรรมการดำเนินการนำไปพิจารณาดำเนินการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์